5 อาการของโรค Nomophobia หรือโรคกลัวการขาดมือถือ
โรค Nomophobia หรือโรคกลัวการขาดมือถือ คือโรคที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่เสพติดการเล่นมือถือชนิดที่ว่าว่างเมื่อไหร่ไม่ได้ ต้องหยิบมือถือออกมาดู ซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้คุณต้องการที่จะเล่นมือถืออยู่ตลอดเวลา ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและหน้าที่การงานได้ เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่า 5 อาการของโรคนี้จะมีอะไรกันบ้าง
1.อยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ (มือถือ)
รู้สึกเป็นกังวลทุกครั้งเวลาที่ไม่ได้จับมือถือ พวกเขาจะต้องหาเวลามาในการที่จะได้หยิบได้เล่นมือถือ แม้จะไม่ได้ใช้งานหรือใช้ติดต่อกับใครพวกเขาก็จะหยิบมาดูบ้างหรือบางทีก็เลื่อนมือถือไปมาแบบไม่มีจุดหมาย
2.มีปฏิกิริยาต่อเสียงแจ้งเตือนเป็นพิเศษ
ตือดือดึ้ง *~~~ เวลามีเสียงข้อความหรือเสียงแจ้งเตือนดังขึ้นในมือถือ พวกเขาจะรีบหยิบมือถือขึ้นมาดูทันที แม้ว่าช่วงนั้นจะติดธุระหรือยังไม่สะดวกที่จะหยิบมือถือขึ้นมาแต่พวกเขาก็จะสนใจกับเสียงมือถือเป็นพิเศษ ทั้งที่สำหรับคนที่ไม่ติดมือถือ พวกเขามักจะทำอะไรให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเช็คมือถือ
3.สิ่งแรกที่ทำก่อนนอนและตอนตื่นคือดูมือถือ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณทั้งหลายนอนดึกนั่นก็คือการเล่นมือถือเพลิน จนเลยเวลานอนมาหลายชั่วโมง ก่อนที่คุณจะเผลอหลับไป แล้วพอตื่นนอนมาคุณก็เช็คมือถืออีก ว่าวันนี้มีอะไรบ้าง จนบางครั้งอาจทำให้คุณไปทำงานหรือไปธุระสาย เพราะอาการติดมือถือของคุณนั่นเอง
4.แชทคล่องแต่พอพูดจริงๆดันพูดไม่เก่ง
คนที่ติดมือถือเนี่ย ส่วนมากมักจะเป็นคนที่แชทเก่งค่ะ พวกเขาสามารถกดตัวอักษรใช้คำพูดได้เก่งเลยทีเดียว แต่พอไปพูดจริงๆ พวกเขากลับไปไม่เป็นซะนี่ อาจจะเพราะติดการแชทจนเคยชิน ทำให้พูดไม่เก่งก็เป็นไปได้ค่ะ
5.ไม่มีสัญญาณมือถือ หรือสัญญาณเน็ตจะเป็นกังวลเป็นพิเศษ
เวลาที่โทรศัพท์ไร้สัญญาณมือถือหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต คนพวกนี้มักจะกระวนกระวายใจเป็นพิเศษ พวกเขามักจะเดินไปเดินมา ชูโทรศัพท์เพื่อหาสัญญาณ ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะไม่พอใจเป็นอย่างมาก บางครั้งอาจจะถึงขั้นหงุดหงิดเลยก็ได้
และนี่ก็คือ 5 อาการของคนที่ติดการเล่นโทรศัพท์มือถือ และมีโอกาสที่จะเป็นโรค Nomophobia หรือโรคเสพติดการเล่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องเพลาๆลงบ้างสำหรับการเล่นมือถือ หรือเก็บไว้เล่นยามว่างหรือยามที่เราไม่มีอะไรจะทำจริงๆจะดีกว่าค่ะ เพราะถ้าเราใช้มันให้ถูกต้องเหมาะสมมันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าเราใช้เกินความพอดี มันก็จะกลายเป็นโทษได้นั่นเอง